สถาปนิกคุมงานก่อสร้าง หรือ วิศวกรคุมงานก่อสร้าง
เวลาตั้งครรภ์ หรือจะคลอดลูก เรายังต้องไปหาหมอ(มืออาชีพ)เพื่อปรึกษาและดูแลการคลอดเลย…ทำไมเวลาเราจะสร้างบ้านทั้งหลัง ถึงไม่ปรึกษาสถาปนิก หรือวิศวกรคุมงานก่อสร้าง มั่งละ
สำหรับท่านที่กำลังมีความคิดที่จะริเริ่มงานก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นอาคาร บ้าน หรืองานก่อสร้างอื่นๆ หรือแม้กระทั่งผู้ที่สนใจทั่วไปในงานก่อสร้าง ก่อนอื่นต้องขอเรียนให้ทราบตัวละครหลักๆ ในงานก่อสร้าง จะประกอบไปด้วยใคร และมีหน้าที่อะไรบ้าง
- เจ้าของงาน คือ ผู้ออกทุนทรัพย์ในการก่อสร้างทั้งหมด
- ผู้ออกแบบ อันประกอบไปด้วย สถาปนิกผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรม และวิศวกรผู้ออกแบบโครงสร้าง และงานระบบต่างๆ ทั้งไฟฟ้า ประปา และสุขาภิบาล
- ผู้รับเหมา คือ ผู้ที่ทำการก่อสร้างงานตามแบบ โดยต้องใช้ช่างผู้ชำนาญการ มีฝีมือ และควรต้องมีสถาปนิก หรือวิศวกรเป็นของตนเอง เพื่อควบคุมการก่อสร้างให้ออกมาตามแบบด้วย
- ที่ปรึกษางานก่อสร้าง หรือผู้ คุมงานก่อสร้าง ข้อนี้จัดว่าสำคัญ(เป็นหัวข้อของบทความ) แต่ก็มักจะถูกละเลยไป เพราะเจ้าของมักจะมองว่าเป็นเรื่องสิ้นเปลือง สำหรับผู้ที่จะเป็นที่ปรึกษางานก่อสร้างได้นั้น ต้องเป็นสถาปนิก หรือวิศวกรที่มีประสบการณ์ในการควบคุมงานมาพอสมควร ซึ่งจะเป็นผู้ที่คอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการก่อสร้างทุกประการกับทางเจ้าของ และช่วยเคลียร์ปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเสมอๆ ในงานก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแบบ หรือเรื่องหน้างาน ให้งานก่อสร้างดำเนินไปอย่างราบรื่น ได้มาตรฐาน ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งในส่วนนี้หลายคนมักจะสับสนระหว่างสถาปนิก/วิศวกรที่ปรึกษา กับสถาปนิก/วิศวกรของผู้รับเหมา(มักจะได้ยินบริษัทรับเหมาโฆษณากันมากว่าการก่อสร้างของตนจะมีการควบคุมงานโดยสถาปนิก/วิศวกร) ซึ่งจุดนี้ต้องเรียนให้ทราบว่าเป็นคนละคน และทำงานคนละส่วนโดยสิ้นเชิง เพราะสถาปนิก/วิศวกรที่ปรึกษาจะเป็นผู้ที่เจ้าของโครงการจ้างมาเพื่อเป็นที่ปรึกษาของตนโดยตรง จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกำไร/ขาดทุนของงานรับเหมาก่อสร้าง ก็เลยสามารถชี้ถูก ชี้ผิดในงานได้เต็มที่ ต่างกับสถาปนิก/วิศวกรบางท่านของผู้รับเหมา(ที่ไร้จรรยาบรรณ) ที่อาจจะช่วยหมกเม็ด เทียบเคียงวัสดุที่ด้อยคุณภาพ ฯลฯ เพื่อให้ผู้รับเหมาซึ่งเป็นฝ่ายของตนได้กำไรมากขึ้น ทำให้งานก่อสร้างมาตรฐานต่ำลงกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งจะเกิดผลเสียกับเจ้าของงานโดยตรง(เสียมากกว่าค่าจ้างที่ปรึกษาด้วยนะ)
สำหรับปัญหาส่วนใหญ่ของเจ้าของงานที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อคิดจะมีงานก่อสร้างบ้านหรืออาคาร จนเป็นเหตุให้ต้องมีที่ปรึกษางานก่อสร้างนั้น พอจะสรุปรวบรวมเป็นประเด็นได้ ดังต่อไปนี้…..
1.) ไม่มีเวลาควบคุมงาน
เจ้าของงานโดยส่วนมากก็มักจะมีการมีงานทำกันประจำอยู่แล้ว บางทีการเข้าไปหน้างานเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของงาน จึงเป็นเรื่องลำบากที่จะทำ การว่าจ้างที่ปรึกษางานก่อสร้างจึงถือเป็นการช่วยเป็นหูเป็นตา ช่วยควบคุมแผนงานให้เป็นไปตามกำหนด แก้ไขปัญหาหน้างาน และควบคุมงานให้อยู่ในมาตรฐาน ป้องกันการลักไก่จากผู้รับเหมาได้ดีพอสมควร
ภาพ : การตรวจสอบเสาก่อนทำการเทคอนกรีต
2.) ไม่มีความรู้งานก่อสร้าง
ความรู้ด้านงานก่อสร้างจัดได้ว่าเป็นความรู้เฉพาะทาง ซึ่งอาจจะเป็นการยากหากเจ้าของงาน ซึ่งเป็นคนจากสายอาชีพอื่นอย่างเจ้าของงานจะทำความเข้าใจได้ในเวลาอันสั้น บางทีก็อาจจะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารความหมาย ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดพลาดไปได้
3.) ไม่ชอบการเจรจาต่อรอง
ในส่วนนี้ต้องเรียนว่าเป็นการเจรจาในส่วนของงานก่อสร้าง เปรียบเทียบกันง่ายๆ ก็คือว่า ที่ปรึกษางานก่อสร้างเปรียบเสมือนล่ามที่จะคอยแปลความต้องการของเจ้าของ ให้เป็นภาษาที่วงการช่างเข้าใจ และสามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคอยอธิบายขั้นตอนการทำงานของผู้รับเหมาให้เจ้าของบ้านได้เข้าใจถูกต้องตามหลักการวิศวกรรม และมาตรฐานงานก่อสร้าง รวมถึงการติดต่อกับผู้ออกแบบในการแก้ปัญหาเมื่อแบบก่อสร้างไม่เคลียร์ โดยพื้นฐานคือให้ทุกฝ่ายสามารถทำงานในส่วนของตนได้อย่างเต็มที่ สบายใจ มีประสิทธิภาพสูงสุด
ภาพ : การพูดคุยกับระหว่างช่างกับผู้ควบคุมงาน
4.) ต้องการงานที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน
เรื่องคุณภาพงานนั้นก็เป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นมากในงานก่อสร้าง ซึ่งเรื่องของคุณภาพนั้นทำให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างผู้รับเหมากับเจ้าของงานมานักต่อนัก ซึ่งส่วนนี้ที่ปรึกษาจะเป็นผู้อธิบายว่าในงานแต่ละงาน มาตรฐานอยู่ในระดับไหน ระดับไหนยอมรับได้ แบบไหนยอมรับไม่ได้ เพื่อให้งานก่อสร้างดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
ภาพ : ช่างกำลังตรวจสอบระยะดิ่งของเสาว่าได้ดิ่งหรือไม่ก่อนเทคอนกรีต
5.) ต้องการที่ปรึกษาเกี่ยวกับงานก่อสร้าง
จากที่กล่าวข้างต้น คือ เจ้าของงานส่วนใหญ่มักจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับงานก่อสร้าง การว่าจ้างที่ปรึกษาและผู้ช่วยคุณคุมงานก่อสร้างจึงเปรียบเสมือนการใช้งานมืออาชีพมาทำงาน ทำให้สบายใจได้มากเพราะจะช่วยลดความกลัวต่างๆ นาๆ เกี่ยวกับงานก่อสร้างที่เคยได้ยินผ่านหูมาตลอดได้
ภาพ : ผู้ควบคุมงานกำลังตรวจสอบการทำงานของช่าง
เป็นอย่างไรบ้างครับ จากข้างต้นคิดว่าคงจะพอเข้าใจความหมาย ความสำคัญของที่ปรึกษางานก่อสร้าง หรือผู้คุมงานก่อสร้าง กันบ้างแล้วไม่มากก็น้อย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่อ่านบทความนี้แล้วจะไม่ทำตัวเป็นหมูให้ผู้รับเหมาเชือดกันได้ง่ายๆ นะครับ
ถ้าจะสรุปง่ายๆ ก็คือ ที่ปรึกษางานก่อสร้างหรือหรือผู้คุมงานก่อสร้างนั้น เปรียบเสมือนวิศวกร/สถาปนิกส่วนตัวของคุณ ที่จะปกป้องผลประโยชน์ของคุณอย่างเต็มที่ ช่วยบริหารจัดการ แนะนำให้งานก่อสร้างของคุณดำเนินไปอย่างราบรื่น ถูกต้อง ตามมาตรฐาน เสร็จภายในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยที่ทุกฝ่ายสามารถทำงานได้อย่างสบายใจ มีความสุขกันทุกคน
บทความล่าสุด
8 ชนิดไม้ดอกให้ร่มเงา
...อ่านเลย คลิกเหล็ก H beam – I beam – Wide flange เหมาะกันงานประเภทไหน
...อ่านเลย คลิกความสำคัญของค่าปรับที่ใช้ในงานก่อสร้าง
...อ่านเลย คลิกการเลือกปั๊มน้ำที่ถูกวิธี ส่งผลดีทั่วทั้งบ้าน
...อ่านเลย คลิกข้อกำหนดของแบบบ้านที่ต้องมีลายเซ็นของวิศวกรและสถาปนิก
...อ่านเลย คลิกความแตกต่างทางการใช้งานของ กาวโพลียูรีเทน และซิลิโคน
...อ่านเลย คลิกฉนวนกันความร้อนของบ้านแต่ละประเภท
...อ่านเลย คลิกแยกสัดส่วนห้องน้ำ โซนแห้ง-โซนเปียก
...อ่านเลย คลิก