วิศวกร สถาปนิก และมัณฑนากร
เรารู้จักวิชาชีพในสายงานก่อสร้างกันมามากน้อยแค่ไหน วิศวกร สถาปนิก และมัณฑนากร คือใคร ทำอะไรในงานก่อสร้าง การทำงานของทั้งสามวิชาชีพมีความต่างกันอย่างไร บทความนี้เราจะมาพูดถึงบทบาทและความสำคัญของทั้งสามวิชาชีพที่มีความจำเป็นกับงานก่อสร้าง เพื่อทำให้เราเข้าใจและสามารถเข้าถึงการใช้บริการในแต่ละส่วนงานได้อย่างถูกต้อง
วิศวกร สถาปนิก และมัณฑนากร คือวิชาชีพที่มีความสัมพันธ์กับงานก่อสร้าง โดยแต่ละอาชีพนั้นก็จะมีบทบาทที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัวนี้นี่เอง ที่มีส่วนบูรณาการ ช่วยเติมเต็มงานก่อสร้าง ตั้งแต่งานหยาบจนถึงงานละเอียดและพร้อมเข้าอยู่อาศัย มาดูกันว่าวิชาชีพทั้งสามจะมีหน้าที่และความสำคัญที่แตกต่างกันอย่างไร
หากเปรียบงานก่อสร้างเสมือนกับร่างกายของเรา…
วิศวกร ก็คงเหมือนกับกระดูกที่เป็นแกนกลาง เป็นโครงร่างและเส้นประสาทส่วนกลางของมนุษย์
สถาปนิก ก็คงเหมือนกับเนื้อหนัง แขนขา ที่เป็นรูปร่างและฟังก์ชันการทำงาน
มัณฑนากร ก็คงเหมือนกับกางเกงเสื้อผ้า และเครื่องประดับตกแต่งร่างกายเพื่อความสวยงาม
วิศวกร
วิศวกร มีหน้าที่ออกแบบ ตรวจสอบและควบคุมความมั่นคง ความแข็งแรง และความปลอดภัยของงานโครงสร้าง ตั้งแต่รูปร่างที่ยังอยู่ในแบบของกระดาษที่ได้มาจากสถาปนิก จนปรากฎเป็นโครงร่างขึ้นมาให้เห็นจริง โดยจะใช้หลักมาตรฐานวิศวกรรมเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นมาตรฐานและปลอดภัยอย่างเป็นสากล ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบเสาเข็ม ฐานราก คาน โครงหลังคา พื้น ให้มีความแข็งแรง รองรับน้ำหนักทั้งหมดของบ้านได้ การจัดวางระบบต่างๆ ให้สอดคล้องกับการใช้สอย ทั้งไฟฟ้า ประปาและสุขาภิบาล เป็นต้น
สถาปนิก
สถาปนิก มีหน้าที่การออกแบบลักษณะรูปร่างภายนอกของบ้านหรือสิ่งปลูกสร้าง ให้ออกมามีหน้าตาตรงกับความต้องการ และลักษณะความชอบของแต่ละคน โดยจะมีหลักมาตรฐานทางสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ดำเนินงานให้ออกมามีความสวยงามและปลอดภัย ยกตัวอย่างเช่น การเลือกใช้วัสดุในการทำผนัง ปูพื้น การเลือกสีโทนหลักของบ้าน การเลือกรูปแบบบานประตู-หน้าต่าง การจัดวางตำแหน่งของห้องตามพื้นที่ใช้สอย เป็นต้น
มัณฑนากร
มัณฑนากร มีหน้าที่ออกแบบและตกแต่งเสริมความสวยงามภายในบ้านให้มีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น เช่น การจัดวางตำแหน่งของเฟอร์นิเจอร์ ดวงโคม การเลือกใช้วัสดุตกแต่งผนัง การเลือกรูปแบบผ้าม่าน เป็นต้น
สุดท้ายนี้ ตามข้อกฎหมายเกี่ยวกับงานก่อสร้างอาคาร วิชาชีพที่มีความจำเป็นซึ่งเกี่ยวข้องกับเอกสารแบบก่อสร้าง รวมถึงการควบคุมงาน ก็คือ วิศวกรและสถาปนิก ซึ่งกฎหมายส่วนนี้จะกำหนดว่าบ้านแบบใดควรใช้สถาปนิก หรือวิศวกร หรือทั้งสถาปนิกและวิศวกร แต่ถ้ากล่าวถึงเรื่องของการออกแบบบ้านให้มีความสมบูรณ์แบบโดยภาพรวมแล้ว จากที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งสามวิชาชีพล้วนมีความเหมาะสม เจาะจงและเฉพาะทางในส่วนของงานที่ตนเองรับผิดชอบ ซึ่งทั้งหมดต่างก็ส่งเสริมและเติมเต็มซึ่งกันและกัน ถึงตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราว่าต้องการบ้านที่สมบูรณ์แบบในระดับไหน ความต้องการของเราอยู่ที่ระดับใด และความเหมาะสมด้านปัจจัยต่างๆ ของเรามีเพียงพอแค่ไหน จึงจะสามารถเลือกปรึกษาวิชาชีพทั้งสามข้างต้น ตามความสามารถเฉพาะทางได้ตามความเหมาะสม
บทความล่าสุด
8 ชนิดไม้ดอกให้ร่มเงา
...อ่านเลย คลิกเหล็ก H beam – I beam – Wide flange เหมาะกันงานประเภทไหน
...อ่านเลย คลิกความสำคัญของค่าปรับที่ใช้ในงานก่อสร้าง
...อ่านเลย คลิกการเลือกปั๊มน้ำที่ถูกวิธี ส่งผลดีทั่วทั้งบ้าน
...อ่านเลย คลิกข้อกำหนดของแบบบ้านที่ต้องมีลายเซ็นของวิศวกรและสถาปนิก
...อ่านเลย คลิกความแตกต่างทางการใช้งานของ กาวโพลียูรีเทน และซิลิโคน
...อ่านเลย คลิกฉนวนกันความร้อนของบ้านแต่ละประเภท
...อ่านเลย คลิกแยกสัดส่วนห้องน้ำ โซนแห้ง-โซนเปียก
...อ่านเลย คลิก