เรื่องพวกนี้อาจไม่เป็นปัญหาอะไรสำหรับคนหนุ่มสาว หรือผู้ที่ยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้พิการแล้ว เรื่องพวกนี้จะเป็นตัวขัดขวางความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตของพวกท่านเป็นอย่างมาก อาจเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุที่เลวร้าย ซึ่งเราก็คงไม่อยากให้เกิดขึ้น

คนส่วนใหญ่มักตัดสินใจสร้างบ้านในช่วงวัยหนุ่มสาว ถึงวัยกลางคน ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่มีกำลัง และร่างกายยังสมบูรณ์แข็งแรง จึงมักสนใจแค่เรื่องของความสวยงาม ประโยชน์ใช้สอย วัสดุที่มีความทันสมัย ไม่ค่อยสนใจเรื่องความปลอดภัยเท่าใดนัก เพราะลืมไปว่าบ้านหลังนี้อาจต้องมีการต้อนรับแขกผู้หลักผู้ใหญ่ คุณพ่อ คุณแม่ ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ในอนาคตเมื่ออายุเรามากขึ้น ร่างกายของเราก็เสื่อมสภาพ หูตาฝ้าฟาง การเคลื่อนไหวของร่างกายอาจไม่คล่องแคล่วดังเดิม ส่วนพื้นที่ต่างๆ ภายในบ้านที่เราอาจใช้งานง่ายๆ อาจไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนพื้นที่ที่ค่อนข้างยากลำบากในการใช้งานของผู้สูงอายุอย่าง…ห้องน้ำ

ห้องน้ำซึ่งแรกเริ่มเดิมทีอาจมีขนาดที่ค่อนข้างเล็กจนถึงคับแคบ มีไฟสลัวๆ มีพื้นต่างระดับเพื่อป้องกันการนองของน้ำเข้าไปในบ้าน อุปกรณ์ต่างๆ ก็ติดตั้งไว้ให้พอหยิบมาใช้ได้ แม้จะไม่สะดวกเท่าไหร่ก็ตาม เรื่องพวกนี้อาจไม่เป็นปัญหาอะไรสำหรับคนหนุ่มสาว หรือผู้ที่ยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้พิการแล้ว เรื่องพวกนี้จะเป็นตัวขัดขวางความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตของพวกท่านเป็นอย่างมาก อาจเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุที่เลวร้าย ซึ่งเราก็คงไม่อยากให้เกิดขึ้น

ดั้งนั้น วันนี้เราจึงขอนำเสนอ

“18 ข้อควรมี ของห้องน้ำที่ดีผู้สูงอายุหรือผู้พิการ”

ตามหลักการ Universal Design หรือการออกแบบเพื่อความสุขสบายของทุกคน ซึ่งคุณสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้กับห้องน้ำของคุณได้ตามความเหมาะสม เพื่อความสุขของทุกคนในครอบครัว และทุกคนที่เรารัก

  1. ห้องน้ำควรมีขนาดกว้างมากกว่า 1.70*1.70 ม. แต่ขอแนะนำว่าไม่ควรกว้างเกินไป เพราะหากผู้สูงอายุ หรือผู้พิการเกิดลื่นล้มในห้องน้ำ จะยังพอสามารถล้มไปพิงผนังได้ ศีรษะจะไม่ฟาดพื้น
  2. ควรมีพื้นที่โล่งถายในห้องน้ำ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.50 ม. เพื่อไว้สำหรับให้ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการที่นั่งรถเข็นกลับหมุนรถได้
  3. พื้นภายในห้องน้ำ ควรมีระดับเดียวกับตัวบ้าน ไม่ควรมีธรณีประตู หรือต่างระดับเกิน 2 ซม. เพราะจะทำให้ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการเกิดการสะดุดล้มได้ แต่ถ้าหากเป็นพื้นต่างระดับต้องทำสโลปลาดเอียง
  4. พื้นในห้องน้ำ ควรปูด้วยวัสดุกันลื่น มีค่าความฝืดของผิวตั้งแต่ R10 ขึ้นไป
  5. ประตูห้องน้ำควรเป็นประตูบานเลื่อนแบบรางแขวน ไม่มีรางบนพื้นขวางทางเข้าเพื่อป้องกันการสะดุดล้ม แต่ถ้าหากเป็นประตูบานพับ ให้เปิดจากด้านนอก ใช้ลูกบิดแบบก้านคันโยก ความกว้างประตูมากกว่า 80 ซม.
  6. ควรมีราวจับจากประตูห้องน้ำ ไปยังอ่างล้างหน้า โถส้วม และที่อาบน้ำ ความสูงของราวไม่ต่ำกว่า 80 ซม.
  7. ควรมีที่นั่งอาบน้ำแบบพับเข้าผนังได้ ซึ่งเมื่อกางออก ให้สูงจากพื้น 43 -45 ซม.
  8. ที่อาบน้ำควรมีราวในแนวดิ่งยาวไม่น้อยกว่า 70 ซม.
  9. ใช้ฝักบัวที่มีก้านแกนปรับระดับเลื่อนขึ้น-ลงได้ง่าย
  10. ชักโครก สูงระหว่าง 43 – 45 ซม. มีที่กดน้ำชำระแบบโยก ติดตั้งสายชำระไว้ด้านข้างใช้มือเอื้อมไปหยิบได้โดยไม่ต้องเอี้ยวตัว มีราวพยุงติดตั้งไว้ทั้ง 2 ข้างของชักโครก
  11. หัววาล์ว หรือก๊อกเปิดปิดต่างๆ รวมถึงที่ใส่สบู่เหลว ควรใช้แบบก้านโยก ก้านปัด หรือก้านกด
  12. สิ่งของเครื่องใช้ อุปกรณ์ภายในห้องน้ำ ให้สูงจากพื้นระหว่าง 25 – 120 ซม.
  13. ใต้อ่างล้างหน้า มีพื้นที่ว่างให้เลื่อนรถเข็นสอดเข้าไปได้ และติดตั้งราวจับ 2 ข้างของอ่างล้างหน้า
  14. มีช่องแสงให้แสงธรรมชาติส่องสว่างเพียงพอ และควรเพิ่มแสงสว่างด้วยหลอดไฟสีขาว จะทำให้เห็นรายละเอียดของสิ่งของต่างๆ ภายในห้องน้ำได้ดีขึ้น
  15. มีการออกแบบการระบายอากาศที่ดี ใช้หลักการธรรมชาติ ให้อากาศดีไล่อากาศเสีย เพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้นในห้องน้ำ
  16. เลือกสีของวัสดุปูผิวให้มองดูแล้วสบายตา สีของพื้นและผนังควรเป็นสีที่ต่างกัน และตัดกับสีของสุขภัณฑ์อย่างชัดเจน
  17. หากมีผู้พิการทางเสียง ควรติดตั้งไฟสำหรับเตือนภัย หรือสัญญาณสื่อความหมายอื่นๆ ไว้ในห้องน้ำ
  18. หากมีผู้พิการทางสายตา ควรติดตั้งอักษรเบรลล์ไว้ที่ประตูทางเข้า เพื่อให้ทราบว่าเป็นห้องน้ำ

เพียงเท่านี้ห้องน้ำภายในบ้านก็จะเป็นห้องน้ำให้ทุกคนได้ใช้อย่างมีความสุข ช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุภายในห้องน้ำของผู้สูงอายุและผู้พิการ อีกทั้งยังรองรับการใช้งานในอนาคตของเจ้าของบ้านเองที่ต้องมีอายุเพิ่มมากขึ้นทุกวันไปพร้อมๆ กับตัวบ้านอีกด้วย

ให้มืออาชีพช่วยคุณ

ติดต่อรับคำปรึกษาหรือ ติดตามข้อมูลที่มีประโยชน์จาก FIRM


Leave a Reply