ตรวจห้องน้ำ

ห้องน้ำที่สร้างมาพร้อมกับบ้าน บทความนี้เราจะพามาดูวิธีตรวจรับบ้านกัน ซึ่งหนึ่งในการตรวจรับบ้านหรือตรวจบ้านสิ่งที่จะลืมตรวจสอบไปไม่ได้เลยก็คือการ ตรวจห้องน้ำ ของคุณเอง จะได้ทราบกันว่าห้องน้ำใช้งานกันได้ปกติดีหรือเปล่า หรือว่ามีปัญหาตรงไหน จะได้แก้ไขกันถูกครับ การตรวจสอบนี้เป็นเสมือนการตรวจสอบเบื้องต้น ให้เจ้าของบ้านมือใหม่ที่อยากตรวจรับบ้านเองได้มีแนวทางในการตรวจสอบห้องน้ำกันครับ

1. ตรวจห้องน้ำ โดยทดสอบความลาดเอียงของพื้น

พื้นห้องน้ำที่ดีต้องลาดเอียงไอยังจุดระบายน้ำ โดยไม่มีน้ำขังอยู่จุดใดจุดหนึ่ง ตรวจสอบง่ายๆด้วยการปล่อยลูกปิงปองหรือลูกแก้วลงบนพื้นห้องน้ำ หากพื้นลาดเอียงดี ลูกแก้วจะค่อยๆไหลไปยังรูระบายน้ำ หรือสามารถใช้น้ำเทลาดไปยังพื้นห้องน้ำ แล้วสังเกตุทิศทางการไหลของน้ำว่าน้ำไหลไปยังจุดระบายน้ำหรือไม่ นอกจากนั้นต้องสังเกตอีกด้วยว่าไม่มีน้ำขังที่จุดใดจุดหนึ่งภายในห้องน้ำ หลังจากน้ำระบายเรียบร้อยแล้ว

ภาพ : ตรวจสอบการไหลของน้ำโดยการใช้น้ำเทลาดไปบนพื้นห้องน้ำ

2. ตรวจโดยตรวจสอบชักโครก

ตรวจระบายน้ำของชักโครกว่าทำงานปกติ ด้วยการทิ้งขนมปัง 1 แผ่น หรือทิชชูสักก้อนลงไป แล้วกดชักโครก 1 ครั้ง หากชักโครกทำงานปกติก็จะกำจัดสิ่งปฏิกูลที่มีปริมาณเช่นนี้ได้ง่าย

ภาพ : การใช้ขนมปังทดสอบการทำงานของชักโครก

3. ตรวจสอบการระบายน้ำ และการขังน้ำของอ่างล้างหน้า

ทดลองปิดจุกระบายน้ำที่สะดืออ่างล้างหน้า เพื่อดูการขังน้ำว่าเป็นปกติหรือไม่ และหากสะดืออ่างล้างหน้าติดตั้งไม่ดี น้ำก็จะรั่วลงใต้อ่างได้ จากนั้นตรวจดูรูน้ำล้นที่ขอบอ่างว่าทำงานได้ดีหรือไม่ การทำงานของรูน้ำล้นนี้จะดักน้ำไม่ให้ล้นขอบอ่าง และระบายออกไปตามท่อระบายน้ำ

ภาพ : การขังน้ำในอ่างล้างหน้าก่อนทำการปล่อยให้น้ำระบายแล้วดูน้ำรั่วซึมด้านใต้อ่างระหว่างการระบายของน้ำ

4. ตรวจสอบจุดต่อสายอ่อนหรือวาล์วต่าง ๆ

หากติดตั้งจุดต่อไม่ดีหรือมีอุปกรณ์ เช่น แหวนยาง (ซึ่งอยู่ภายในอุปกรณ์นั้น ๆ) เสื่อมสภาพ ก็จะมีอาการน้ำรั่ว-น้ำซึมได้ง่าย จุดที่ควรสังเกตคือ สายอ่อนของระบบน้ำดีใต้เคาท์เตอร์อ่างล้างหน้าซึ่งต่อกับก๊อกอ่างล้างหน้า จุดนี้มีพื้นที่ทำงานแคบมาก จึงอาจเป็นสาเหตุให้ติดตั้งไม่ดีได้

ภาพ : ตำแหน่งที่ต้องตรวจสอบการรั่วซึมของน้ำ รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ เช่นสายฉีดชำระ น้ำดีเข้าชักโครก น้ำดีเข้าอ่างล้างหน้า

5. ตรวจสอบรูระบายน้ำที่พื้น

รูระบายน้ำที่นิยมใช้กันคือ รูระบายน้ำชนิดกันกลิ่น ซึ่งมีที่มาจากแนวความคิดของคอห่าน นั่นคือปล่อยให้ในท่อมีน้ำขังอยู่บางส่วน เพื่อป้องกันมิให้กลิ่นเหม็นย้อนกลับมาได้ เมื่อเข้าใจการทำงานของรูระบายน้ำกันกลิ่นแล้วมาตรวจสอบกันครับ โดยเปิดฝาตะแกรงรูระบายน้ำดูว่ามีเศษผงและสิ่งสกปรกตกค้างอยู่ที่ถ้วยขังน้ำหรือไม่ เศษผงเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคให้ระบบกันกลิ่นทำงานไม่สมบูรณ์ และระบายน้ำทิ้งไม่สะดวกอีกด้วย

ภาพ : ภาพแสดงรูระบายน้ำหรือว่า floor drain ชนิดกันกลิ่นปิดสนิท

ภาพ : ตะแกรงกันกลิ่น (เรียกอีกอย่างว่า “Bell Trap”) และ รูปตัด เป็นลักษณะขังน้ำในตัว มีรูปทรงคล้ายชามคว่ำ กันกลิ่นย้อนขึ้นมา ควรหมั่นทำความสะอาดและตรวจสอบให้มีน้ำขังอยู่เสมอ

ขอบคุณภาพจาก : https://www.scgbuildingmaterials.com

ผ่านไปแล้วสำหรับ วิธีการเช็คสุขภาพเบื้องต้นที่ง่ายแสนง่าย สามารถทำกันได้ทุกคน เพื่อตรวจสอบป้องกัน และแก้ปัญหาภายในห้องน้ำเบื้องต้นกันได้ง่ายๆ ไม่ต้องไปจ้างช่างให้เสียเวลา แต่ถ้าหากตรวจสอบละประเมินดูแล้ว พบว่าปัญหาเป็นเรื่องใหญ่ที่อาจเกี่ยวพันกับเทคนิคงานช่าง ก็อย่าขืนไปทำเองกันนะครับ เรื่องเล็กจะกลายเป็นงานช้างเอาได้ ทางที่ดีให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยแก้ไขให้ดีกว่าครับ แล้วห้องน้ำของบ้านที่แสนรักก็จะอยู่เคียงข้างเราไปได้อีกนานแสนนาน  

ให้มืออาชีพช่วยคุณ

ติดต่อรับคำปรึกษาหรือ ติดตามข้อมูลที่มีประโยชน์จาก FIRM


Leave a Reply