เพราะ “บ้าน” คือปัจจัยการดำรงชีวิตที่จำเป็นของเราทุกคน ดังนั้นหลายคนจึงฝันที่จะปลูกบ้านของตัวเองสักหลังเพื่อเป็นจุดศูนย์รวมของทุกคนในครอบครัว แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเราจะออกแบบบ้านมาอย่างดีและพร้อมที่จะจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว ก่อนที่เราจะสร้างบ้านในแต่ละครั้งก็มีระเบียบปฏิบัติที่ระบุไว้ตามข้อกฎหมายอยู่ ซึ่งก็คือ การขออนุญาตก่อสร้าง นั่นเองครับ

ตามกฎหมายไทยระบุว่า ในเขตที่ประกาศใช้กฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารหรือกฎหมายผังเมือง หากเราต้องการก่อสร้างบ้านหรืออาคาร แบบบ้านหรือแบบแปลนจะต้องได้รับอนุญาตก่อน นอกจากนี้จะสร้างบ้านเกินกว่าแบบบ้านที่เรายื่นขออนุญาตไม่ได้ ซึ่งในการขออนุญาตแต่ละครั้งสามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานเทศบาลในเขตพื้นที่ที่เราอยู่อาศัยหรือตามที่เขตที่ดินของเราสังกัดอยู่ในเทศบาลนั้นๆ ครับ (หากเป็นบริเวณที่อยู่นอกเขตควบคุมของกฎหมายตามที่กล่าวมา ก็จะสามารถปลูกสร้างได้เลยโดยที่ไม่ต้องขออนุญาตก่อน)

  1. ขั้นแรกเราต้องมีแบบบ้านเสียก่อนครับ โดยเจ้าของบ้านสามารถให้สถาปนิกออกแบบบ้านเป็นผู้เขียนให้เลยเพื่อความสะดวกรวดเร็วและไม่ยุ่งยาก
  2. จากนั้น ให้เดินทางไปเทศบาลเพื่อนำเอกสารคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคารหรือรื้อถอนอาคาร (ข.1) มากรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน
  3. เอกสารสำคัญที่ต้องยื่นประกอบคำขออนุญาต มีดังนี้
    •  แบบบ้านหรือแบบแปลนอาคาร จำนวน 5 ชุด

    • หนังสือรับรองการเป็นผู้ออกแบบ สถาปนิกหรือวิศวกรผู้คุมงานก่อสร้าง พร้อมสำเนาใบอนุญาต

    • สำเนาโฉนดที่ดินที่เราจะทำการก่อสร้าง

    • สำเนาบัตรประชาชน หรือทะเบียนบ้านเจ้าของอาคาร หรือหากเป็นนิติบุคคลก็ต้องใช้หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล

    • หากเราใช้บริการบริษัทที่ปรึกษางานก่อสร้างหรือใช้ตัวแทนเป็นผู้ขออนุญาต ก็ต้องมีเอกสารแสดงการมอบอำนาจให้ดำเนินการแทนในเรื่องการขออนุญาตก่อสร้าง รวมถึงสำเนาบัตรประชาชนของตัวแทนด้วยครับ

จากนั้นเมื่อเรากรอกใบคำขอและเตรียมเอกสารทั้งหมดครบถ้วนแล้ว ให้นำเอกสารไปยื่นต่อเทศบาลซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ ภายในระยะเวลา 45 วัน เราควรจะได้รับแจ้งว่าได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างหรือไม่ หรือต้องแก้ไขอะไรบ้างในกรณีที่ไม่ได้รับอนุญาต และหลังจากแก้ไขตามที่เทศบาลระบุแล้วก็ควรได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างครับ

ในการปลูกสร้างบ้าน อย่าลืมตรวจสอบให้ดีว่าที่ดินที่เราอยู่อาศัยนั้นอยู่ในเขตบังคับของกฎหมายที่ต้องให้ทำการขออนุญาตก่อนการก่อสร้างหรือไม่ หากตามกฎหมายระบุไว้เราก็ต้องทำตามระเบียบนั้นเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม และเพื่อความสบายใจของเจ้าของบ้านในการก่อสร้างบ้านและอาคารด้วยครับ

ให้มืออาชีพช่วยคุณ

ติดต่อรับคำปรึกษาหรือ ติดตามข้อมูลที่มีประโยชน์จาก FIRM


Leave a Reply