ลักษณะและการใช้งานของตะปูชนิดต่างๆ

สำหรับงานยึด ตรึง ติด ระหว่างวัสดุต่างๆ ที่ใช้ในงานก่อสร้างต้องยกให้เลยกับลักษณะพิเศษของ ’ตะปู’ ที่นอกจากจะมีความเพรียวแหลมเป็นลักษณะที่โดดเด่นแล้ว ยังสามารถใช้งานด้วยการทะลุทะลวงวัสดุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไม้ คอนกรีต แม้กระทั่งเหล็ก ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกคิดค้นมาตั้งแต่โบราณ และได้มีการพัฒนาตะปูนี้จนถึงปัจจุบัน ที่ทำให้ตะปูมีลักษณะต่างๆ ที่หลากหลาย เพื่อรองรับการใช้งานที่เหมาะสม บทความนี้จึงชวนมาทำความรู้จักตะปูที่ใช้ในงานประเภทต่างๆ ว่า มีลักษณะและการใช้งานที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. ตะปูสำหรับงานไม้ แบ่งเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ

  • ตะปูทั่วไป
    ตะปูชนิดนี้ใช้สำหรับการสร้างหรือขึ้นโครงสร้างต่างๆ มีขนาดความยาวตั้งแต่หนึ่งนิ้วครึ่งไปจนถึงหกนิ้ว ตัวของตะปูเป็นโลหะผิวเรียบสม่ำเสมอ ส่วนหัวของตะปูมีขนาดใหญ่และแบนเพื่อรองรับการตอก

  • ตะปูหัวเล็ก หรือตะปูเข็ม
    ตะปูชนิดนี้เป็นตะปูที่ใช้สำหรับงานประดิษฐ์ เช่น การทำกระทง เป็นตะปูที่มีขนาดเล็ก มีขนาดตั้งแต่หนึ่งนิ้วครึ่งจนถึงสามนิ้ว หัวของตะปูมีขนาดเล็กเพื่อง่ายต่อการเก็บงานที่มีความละเอียด

  • ตะปูเกลียว หรือตะปูควง
    ด้วยลักษณะของตะปูที่มีเกลียวรอบตัวตั้งแต่ปลายยันหัวของตะปู เหมาะสำหรับงานที่ต้องการการยึดมากเป็นพิเศษ โดยบริเวณหัวของตะปูจะมีแฉกเพื่อรองรับกับการหมุนไข มีขนาดตั้งแต่หนึ่งนิ้วครึ่งถึงสี่นิ้ว

2. ตะปูสำหรับงานเหล็ก

  • เป็นตะปูสำหรับเจาะยึดกับเหล็กและงานหลังคา ลักษณะของตัวตะปูจะมีความหนากว่าตะปูชนิดอื่นๆ มีเกลียวรอบตัว ยกเว้นส่วนปลายเพื่อไว้สำหรับการเจาะเนื้อเหล็กโดยเฉพาะ

3. ตะปูสำหรับงานคอนกรีต

  • มีลักษณะคล้ายกับตะปูตอกไม้แบบทั่วไป แต่จะมีร่องเล็กๆ บนตัวตะปู เพื่อเพิ่มความเสียดทานขณะฝังอยู่ในเนื้อคอนกรีต และจะมีความแข็งแรงมากกว่าตะปูสำหรับงานไม้ ยากต่อการบิดงอเพื่อให้สามารถทะลุทะลวงเข้าไปในเนื้อคอนกรีตได้

4. ตะปูสำหรับงานสังกะสี

  • เป็นตะปูที่ใช้สำหรับงานสังกะสีโดยเฉพาะ มีลักษณะเด่นที่เห็นได้อย่างชัดเจน นั่นคือ หัวของตะปูจะมีลักษณะคล้ายร่มที่กำลังกางอยู่ เพื่อให้สามารถยึดติดกับตัวสังกะสีได้ดียิ่งขึ้น

นอกเหนือจากนั้นก็จะมีตะปูบางประเภทที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อรองรับการติดยึดบนผนัง เช่น ตะปูกิ๊บสายเคเบิลหรือสายไฟ โดยเป็นการออกแบบที่มีใช้ตะปูเกลียวกับกิ๊บตัวยึดเก็บสายต่างๆ ไม่ให้ระโยงระยางห้อยย้อยลงมานั่นเอง ทั้งนี้เราควรเลือกใช้งานของตะปูให้เหมาะสมกับชนิดของงาน เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาในการแก้ไขซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนอาจทำให้เสียเวลาและเสียวัสดุได้

ให้มืออาชีพช่วยคุณ

ติดต่อรับคำปรึกษาหรือ ติดตามข้อมูลที่มีประโยชน์จาก FIRM


Leave a Reply