หลายคนคงเคยประสบปัญหา หรือไม่ก็อาจเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับบ้านทรุด บ้านร้าว เนื่องจากการต่อเติมผิดประเภทกันมาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งอาจได้รับข้อมูลความรู้กันมาต่างๆ นาๆ ถูกบ้าง ผิดบ้าง อย่างเช่น

  • ก็ต่อเติมไม่ใส่เสาเข็มงัย มันเลยทรุด
  • เสาเข็มสั้นไป มันก็ต้องทรุดสิ่
  • ก็ดันเอาส่วนต่อเติมไปเชื่อมกับตัวบ้านงัย มันก็เลยทรุด
  • ใช้ช่างไม่มีประสบการณ์รึเปล่า?
  • โครงสร้างหนักไปน่ะสิ่
  • ฯลฯ

หลากหลายเหตุ หลากหลายประเด็น หลากที่มา หลายที่ไป จึงไม่รู้ว่าตกลงที่มันทรุด เป็นเพราะอะไรกันแน่? วันนี้เราจึงขอนำเสนอบทความนี้เพื่อคลายความสงสัยและไขข้อข้องใจ ให้คุณที่กำลังทำหน้างงๆ ได้รับข้อมูลที่แท้จริงกันว่าด้วยเรื่องการทรุดตัว ดังนี้ …

ภาพ : การทรุดตัวของส่วนต่อเติมที่เกิดจากการต่อเติมไม่ถูกต้อง

  1. สิ่งก่อสร้างทุกชนิดในโลกที่วางอยู่บนดินต้องมีการทรุดตัวมากบ้าง น้อยบ้างแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างนั้นๆ
  2. สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นได้รับการออกแบบให้เกิดการทรุดตัวในค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นการทรุดตัวตามธรรมชาติ
  3. ความเข้าใจง่ายๆ ของการทรุดตัว ก็คือ ให้นึกถึงดินที่อยู่เฉยๆ นิ่งๆ มานานปี ซึ่งเป็นดินนิ่มๆ จู่ๆ คนก็เอาอะไรไม่รู้ที่หนักมากๆ เป็นร้อย เป็นพันตันไปวางทับ ดินก็ต้องมีการปรับตัวบ้าง ดินต้องแน่นขึ้น ช่องว่างในดินจะลดลง ดินจึงทรุดตัวลง (ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างที่ทรุดตัว แต่ดินต่างหากที่ทรุดตัว)
  4. เสาเข็มที่ยาวมากๆ ยาวถึงดินอีกชั้น เรียกว่าชั้นดินแข็ง จะรับน้ำหนักแทนดินนิ่มๆ จากข้อ 3 ซึ่งก็คือจะถ่ายน้ำหนักจากสิ่งก่อสร้าง ลงไปถึงชั้นดินแข็งโดยตรงเลย โดยผ่านเสาเข็มนี้
  5. ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีการทรุดตัวตามธรรมชาติอยู่ดี แต่จะเล็กน้อยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งก่อสร้าง และการอยู่อาศัย เพราะอยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว ซึ่งนั่นจะผ่านการออกแบบโดย วิศวกร

กลับมาที่หัวข้อ “เสาเข็มจำเป็นแค่ไหนกับงานต่อเติม” แน่นอน หลายคนคงต้องคิดว่า ต้องจำเป็นอยู่แล้ว เพราะจากข้อมูลข้างต้น ก็เห็นๆ กันอยู่ว่าเสาเข็มป้องกันการทรุดตัวได้ดีแค่ไหน

… แต่..เดี๋ยวก่อน ลองกลับไปอ่านข้อ 4 ใหม่ครับ “เสาเข็มที่ยาวมากๆ ยาวถึงดินอีกชั้น เรียกว่าชั้นดินแข็ง จะรับน้ำหนักแทนดินนิ่มๆ ซึ่งก็คือจะถ่ายน้ำหนักจากสิ่งก่อสร้าง ลงไปถึงชั้นดินแข็งโดยตรงเลย โดยผ่านเสาเข็มนี้” ประเด็นคือ เสาเข็มที่ยาวมากๆ ซึ่งแน่นอนว่า ยาวมาก ก็ต้องแพงมาก จริงไหมครับ?

ที่นี้ลองถามใจตัวเองดูครับ เรามีงบต่อเติมเพียงพอที่จะซื้อเจ้าเสาเข็มที่ยาวมากๆนี้ได้หรือเปล่า? ถ้ามีก็ยินดีด้วยครับ แต่ถ้าไม่ เชิญอ่านต่อ…

ภาพ : เครื่องจักรและเสาเข็มสำหรับก่อสร้างอาคารสูง

หน้าที่ของเสาเข็ม คือการรับน้ำหนักจากหัวด้านบน ลงไปยังปลายด้านล่าง แล้วถ่ายต่อลงไปในชั้นดิน และมีแรงเสียดทานระหว่างพื้นผิวรอบเสาเข็มกับชั้นดิน ซึ่งมีส่วนช่วยพยุงน้ำหนักจากด้านบนได้ (แต่ก็น้อยมากๆ) เสาเข็มที่ใช้ในงานต่อเติมทั่วไปจะอยู่ที่ 4-6 เมตร

ซึ่งแน่นอนปลายด้านล่างลงไปไม่ถึงชั้นดินแข็งแน่ๆ เท่ากับว่าสูญเสียความสามารถหลักไปแล้ว ครั้นจะไปหวังกับแรงเสียดทานซึ่งมีอยู่น้อยนิดแล้ว ก็แทบไม่ต้องหวัง ยังงัยก็ทรุดอยู่ดี เป็นอันว่าจะมีหรือไม่มีเจ้าเสาเข็มนี้ ก็มีค่าเท่ากัน แต่คิดดีๆ อาจจะไม่เท่าเพราะถ้ารู้ว่าไม่จำเป็นต้องมีแต่แรกก็ไม่ต้องซื้อ ประหยัดเงินได้อีกตั้งเยอะ

ภาพ : เสาเข็มหกเหลี่ยมขนาด dai0.15 เมตร ก่อนที่ทำการเทคอนกรีตดด้านบน

สรุป

งานต่อเติมหากจะใช้แค่เจ้าเสาเข็ม 4 – 6 เมตรนี้แล้ว ไม่ต้องใช้ก็ได้ เพราะว่าปลายเสาเข็มยังอยู่ในช่วงดินนิ่มที่การทรุดตัวสูง (ทรุดอยู่ดี)

ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นทำให้เราทราบว่าปกติสิ่งก่อสร้างเมื่อวางอยู่บนดินจะต้องเกิดการทรุดตัวอยู่แล้วตามธรรมชาติ บ้านของเราสร้างก่อน แถมยังวางอยู่บนเสาเข็มที่ลึกถึงชั้นดินแข็ง จึงมีการทรุดตัวที่น้อยกว่า

แต่ในส่วนต่อเติมของเราสร้างทีหลังอยู่บนชั้นดินอ่อนนิ่ม มีการทรุดตัวที่สูงกว่า เราก็แค่แยกโครงสร้างของทั้ง 2 หลังไม่ให้ติดกัน ต่างคนต่างทรุดอย่างอิสระ ไม่ดึงกันทำให้เกิดรอยร้าว และก็อย่าลืมปิดรอยต่อระหว่างบ้านและส่วนต่อเติมด้วยวัสดุที่ยืดหยุ่นสูง และกันน้ำรั่วซึม ซึ่งส่วนนี้สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้แนะนำได้ เพียงเท่านี้การต่อเติมก็จะถูกต้องตามหลักการ แถมยังประหยัดค่าใช้จ่าย และไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน

ให้มืออาชีพช่วยคุณ

ติดต่อรับคำปรึกษาหรือ ติดตามข้อมูลที่มีประโยชน์จาก FIRM


Leave a Reply