เสาเข็ม คือโครงสร้างส่วนสำคัญของอาคาร มีหน้าที่รับน้ำหนักทั้งหมดของอาคาร เพื่อให้ถ่ายน้ำหนักลงดินได้อย่างปลอดภัยตามหลักวิศวกรรม เสาเข็มแบ่งได้หลายประเภทตามเกณฑ์การแบ่งที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไปจะแยกตามลักษณะการติดตั้ง ซึ่งจะแบ่งได้ 2 แบบ ได้แก่

1. เสาเข็มตอก เป็นเสาเข็มที่ผลิตสำเร็จรูปจากโรงงาน ใช้วิธีการติดตั้งโดยการใช้น้ำหนักตอกลงไปที่หัวเสาเข็ม

2. เสาเข็มเจาะ เป็นเสาเข็มที่ผลิตที่สถานที่ก่อสร้าง โดยการเจาะหลุมเสาเข็ม แล้วเทคอนกรีตลงไปให้เซ็ตตัว

โดยทั่วไปวิศวกรผู้ออกแบบโครงสร้าง จะคำนวณกำลังรับนำ้หนักของเสาเข็ม จากนั้นจะพิจารณาเลือกชนิดของเสาเข็มตามดุลยพินิจของวิศวกร ซึ่งจะมีปัจจัยต่างๆ ที่ใช้เป็นองค์ประกอบในการพิจารณา ดังต่อไปนี้

1. ความลึกชั้นดิน/ความยาวเสาเข็มที่โครงสร้างต้องการ

ชั้นดินที่มีความลึกเกินกว่าที่เสาเข็มตอกจะใช้การได้ หรือมีความลึกเกินกว่าที่โรงงานเสาเข็มจะผลิตเสาเข็มที่มีความยาวตามต้องการได้ โดยที่ไม่ให้มีการต่อเข็ม หรือให้มีการต่อเข็มน้อยที่สุด เพื่อให้เกิดการทำงานได้อย่างสะดวก เหมาะสม และปลอดภัยตามหลักวิศวกรรม และดุลยพินิจของวิศวกร วิศวกรผู้ออกแบบจะพิจารณาเลือกใช้เสาเข็มเจาะ เพราะสามารถทำการเจาะลงไปในชั้นดินได้ตามความยาวที่ต้องการแทนการใช้เสาเข็มตอก

2. สถานที่ก่อสร้าง

การตอกเสาเข็มจะทำให้เกิดแรงกระแทก ซึ่งจะกระทบกระเทือนกับอาคารข้างเคียงในรัศมีประมาณ 50 เมตรจากศูนย์กลางการตอก อาจทำให้อาคารข้างเคียงเกิดการแตกร้าว หรือเสียหาย หากอาคารที่จะสร้าง มีระยะที่ใกล้ชิดกับอาคารข้างเคียงอื่น วิศวกรจะพิจารณาใช้เสาเข็มเจาะแทน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าว สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ คือการใช้เสาเข็มเจาะ มีความสะดวกในการเคลื่อนย้าย เพราะเครื่องมือ เครื่องจักรต่างๆ สามารถถอดประกอบได้ที่สถานที่ก่อสร้าง ไม่ต้องใช้รถขนย้ายขนาดใหญ่ ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งในการก่อสร้างในพื้นที่ชุมชน ซึ่งมักมีสิ่งกีดขวางการสัญจร เสาเข็มเจาะสามารถทำการก่อสร้างชิดอาคารข้างเคียงหรือห่างจากผนังออกมาเพียง 0.75 เมตรได้ในกรณีที่ไม่มีสิ่งกีดขวางใต้ดิน อีกทั้งความสูงอย่างน้อยของพื้นที่ทำงานใช้ในการตั้งแท่นเจาะก็เพียง 3 เมตร เท่านั้น

3. ค่าใช้จ่าย

ในระยะความยาว และความแข็งแรงที่เท่ากัน เสาเข็มเจาะจะมีราคาที่แพงกว่าเสาเข็มตอก ประมาณ 2 เท่า ในพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่ได้ติดปัญหาตามที่กล่าวข้างต้น การเลือกใช้เสาเข็มตอก จึงเป็นแนวทางในการประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างได้ทางหนึ่ง

ตามข้อมูลดังกล่าวข้างต้น คงจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน หรือท่านเจ้าของบ้านหรืออาคารผู้มีความสนใจในงานก่อสร้างกันอยู่บ้าง อย่างน้อยจะได้ใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาการใช้เสาเข็มให้กับหรืออาคารร่วมกับวิศวกรผู้ออกแบบ และได้มีความรู้เอาไว้ใช้พูดคุยต่อรองกับผู้รับเหมาได้อีกด้วย

ให้มืออาชีพช่วยคุณ

ติดต่อรับคำปรึกษาหรือ ติดตามข้อมูลที่มีประโยชน์จาก FIRM


Leave a Reply