“ บ้าน คือโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีเจ้าบ้านครอบครอง และให้หมายความรวมถึงแพ หรือเรือซึ่งจอดเป็นประจำและใช้เป็นที่อยู่ประจำ หรือสถานที่ หรือยานพาหนะ ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยประจำได้ด้วย” พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534

เมื่อบ้านสร้างเสร็จแล้ว จำเป็นต้องมีการขอสาธารณูปโภค ขอน้ำประปา ขอไฟฟ้า ขอโทรศัพท์ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต การขอใช้บริการต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ต้องใช้หลักฐานของความเป็นบ้านตามกฎหมายยื่นไปด้วย แล้วหลักฐานดังกล่าวนั้นก็คือ เลขที่บ้านที่จะมาพร้อมกับทะเบียนบ้านนั่นเอง

การขอเลขที่บ้าน

เมื่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ เจ้าบ้าน หรือผู้รับมอบอำนาจจะต้องแจ้งต่อหน่วยงานท้องที่ เพื่อขอเลขที่บ้านภายใน 15 วัน นับแต่วันที่สร้างเสร็จ เมื่อนายทะเบียนรับคำร้องพร้อมหลักฐานประกอบของผู้แจ้งครบถ้วนแล้ว จะต้องตรวจสอบว่าบ้านที่ขอเลขที่นั้น มีลักษณะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หน่วยงานท้องที่จะกำหนดเลขที่บ้านให้แก่ผู้แจ้งภายใน 7 วัน(กรณีบ้านปลูกอยู่ในเขตเทศบาล) หรือภายใน 30 วัน(กรณีบ้านปลูกอยู่นอกเขตเทศบาล) ซึ่งจะได้รับเลขที่บ้านมาในรูปแบบเล่มทะเบียนบ้าน

ทะเบียนบ้าน คือ ทะเบียนบ้านที่หน่วยงานท้องที่ออกให้บ้านแต่ละหลัง กำหนดให้มีเลขประจำบ้าน(เลขที่บ้าน) ซึ่งปลูกสร้างโดยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ปลูกสร้างอาคาร

เอกสารที่ต้องใช้ในการขอเลขที่บ้าน

  1. ใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ท.ร.9) ออกโดยหน่วยงานท้องที่
  2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ยื่นคำร้อง จำนวน 1 ชุด
  3. โฉนดที่ดิน ***กรณีบ้านหรืออาคารที่สร้างตั้งอยู่บนที่ดินของผู้อื่น ต้องมีหนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินนั้นของเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นด้วย โดยใช้เอกสารเพิ่มเติม คือ หนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างบ้าน (กรณีสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่บนที่ดินของผู้อื่น) โดยแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของที่ดิน/ผู้ที่มีชื่อร่วมกันในกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นๆ ทุกๆ คน จำนวน 1 ชุด
  4. ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ที่ไม่หมดอายุ
  5. หนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน กรณีไม่สามารถมาติดต่อขอเลขที่บ้านได้ด้วยตนเอง พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ รวมทั้งพยานบุคคล จำนวน 2 คน จำนวน 1 ชุด
  6. รูปถ่ายบ้านที่สร้างเสร็จทั้ง 4 ด้าน (ซ้าย,ขวา,หน้า และหลัง)

การขอเลขที่บ้าน ก็ถือว่าเป็นขั้นตอนท้ายๆ ของการปลูกสร้างบ้านแล้วนะครับ อีกนีดเดียวก็จะมีบ้านเป็นของตนเองอย่างภาคภูมิ และถูกต้องตามข้อกำหนดกฎหมายแล้ว จะเห็นว่าการเตรียมการไม่มีอะไรยุ่งยากเลย อย่างไรก็อย่าลืมศึกษาและปฏิบัติตามกันให้ถูกต้องด้วยนะครับ จะได้ไม่มีปัญหาให้ตกม้าตายกันทีหลัง(สร้างบ้านเสร็จไม่ขอเลขที่บ้านผิดกฎหมายด้วยนะ) ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย หรือค่าธรรมเนียม ก็สามารถสอบถามกันได้ที่หน่วยงานท้องที่ที่เราไปขอเลขที่บ้านกันได้เลย

ให้มืออาชีพช่วยคุณ

ติดต่อรับคำปรึกษาหรือ ติดตามข้อมูลที่มีประโยชน์จาก FIRM


Leave a Reply