หลังคารั่ว

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน อุณหภูมิที่แสนจะสูงในช่วงฤดูร้อนก็ลดดีกรีลง อากาศก็เย็นขึ้นมาหน่อย แต่ทั้งนี้ก็จะแลกมาด้วยความชื้นแฉะ อากาศที่อึนๆ ไม่เอื้อให้มีอารมณ์ที่จะทำการทำงานเท่าใดนัก จะว่าไปในช่วงฤดูฝนปัญหาที่มักจะมีผู้มาปรึกษากันเสมอ เห็นจะไม่พ้นปัญหาฝนตกน้ำรั่ว

ซึ่งคิดดูแล้วก็น่าจะเป็นปัญหาที่หนักเอาการสำหรับคุณเจ้าของบ้าน เพราะถ้าเกิดพบเจอกันขึ้นมา แน่นอนว่าต้องทำให้เกิดความเสียหายกับทรัพย์สินภายในบ้านกันไม่มากก็น้อยแหละครับ หรือแม้กระทั่งไหลตามโครงสร้างไปหยดลงบ้านข้างเคียง(ในกรณีทาวน์โฮม)

และบางทีปัญหาพวกนี้หากดูกันไม่ดี แก้ไขไม่ตรงจุด หรือแก้ไขกันผิดวิธี ก็อย่างที่จะขจัดปัญหาไปได้ บางคนอาจต้องแก้ไขกันไปทุกปี หรือแก้ไขกันหลายๆ รอบก็มี

ดังนั้น ในบทความนี้เราจึงได้รวบรวมปัญหาฝนตกน้ำรั่วที่พบกันบ่อยๆ มาเสนอพร้อมวิธีการจัดการ เพื่อเป็นข้อมูลเตรียมตัวเผชิญหน้ากับน้ำรั่วเจ้ากรรมกันครับ

1. หลังคารั่ว บริเวณรางน้ำตะเข้

รั่วบริเวณนี้จะเนื่องมาจาก รางน้ำซึ่งอาจจะใช้มานานแล้ว เกิดผุขึ้นมา หรือบริเวณรอยต่อของรางมีการติดตั้งไม่เรียบร้อย หรือบางทีปีกของรางน้ำอาจจะแคบไป ทำให้เวลาฝนตก ลมพัดแรงๆ น้ำจึงย้อนเข้าใตหลังคาได้ ซึ่งรางน้ำที่เหมาะสมควรจะมีความกว้างอย่างน้อย 20 ซม. ลึกอย่างน้อย 5 ซม. และปีกควรยาวไม่ต่ำกว่า 20 ซม. และที่สำคัญควรหมั่นดูแลความสะอาดภายในรางน้ำด้วย เพื่อป้องกันการอุดตันของเศษใบไม้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการผุของรางน้ำด้วย

2. หลังคารั่ว บริเวณอุปกรณ์ยึด

เกิดจากชุดอุปกรณ์ยึด จำพวกน็อต ตะปูเกลียว แหวนยาง หมวกสังกะสีเสื่อมสภาพ ซึ่งสังเกตได้จากรูแสงลอดที่จะเกิดขึ้นบริเวณการเจาะยึดนั้น ทางแก้ที่ดีที่สุดก็คือการเปลี่ยนชุดอุปกรณ์ใหม่ และเพื่อเสริมการป้องกันก็ให้ทาวัสดุกันซึมจำพวกฟิลโคททับบริเวณหัวอุปกรณ์ยึดอีกชั้นหนึ่ง

ภาพ : อุดรอยหัวน็อตยึดแผ่นหลังคา ป้องกันน้ำซึมเข้า

3. รั่วบริเวณแผ่นกระเบื้องหลังคา

เกิดจากกระเบื้องมีรอยแตกร้าว จะสังเกตเห็นช่องแสงเป็นแนวยาวตามรอยแตก ซึ่งวีธีแก้ไขที่ดีที่สุดก็คือการเปลี่ยนกระเบื้องแผ่นนั้นใหม่ โดยต้องใช้กระเบื้องรุ่นเดิม เพื่อให้สามารถเข้ากับแนวลอนเดิมบนหลังคาได้ แต่หากไม่สะดวก สามารถใช้ซิลิโคนชนิดเฉพาะงานอุดรอยรั่วโป๊วปิดได้เช่นกัน

ภาพ : รอยต่อระหว่างแผ่นป้องกันได้ด้วยอะครีลิคชนิดยืดหยุ่นสูง ทาปิดระหว่างรอยต่อแผ่นหลังคา

4. รั่วบริเวณชายคา

ชายกระเบื้องหลังคาอาจจะยื่นเลยชายคาน้อยเกินไป ซึ่งแก้ไขได้โดยทำให้กระเบื้องแถวล่างสุดมีความยาวเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มระยะชายคา ไม่ให้เกิดการไหลย้อนเข้าใต้หลังคาได้ ซึ่งระยะที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 100-180 ซม.

ภาพ : บริเวณเชิงชาย

5. รั่วบริเวณรอยต่อกระเบื้องชนผนัง หรือบริเวณปีกนก

ปัญหาในข้อนี้จะเกิดขึ้นได้จากหลายกรณี เช่น ปีกนกสั้นกว่ามาตรฐาน หรืออยู่สูงจากระดับกระเบื้องหลังคามากเกินไป ทำให้เกิดช่องว่างให้ฝนสาดเข้าไปได้ หรือเกิดจากการเสียบเหล็กปีกนกผิดวิธี ทำให้รับน้ำหนักไม่ไหวจึงเกิดรอยร้าวให้น้ำรั่ว ซึ่งกรณีข้างต้นต้องทุบปีกนกตัวเดิมทั้งแล้วทำใหม่ให้ถูกต้อง หรือกรณีลอนกระเบื้องที่ชนผนังเป็นลอนคว่ำไม่ใช่ลอนยก ทำให้น้ำฝนไหลลงตามลอนเข้าหลังคาได้ ซึ่งต้องรื้อแล้วปูใหม่ให้ถูกต้อง หรือเกิดการแตกร้าวของปูนปั้นที่เททับกระเบื้องตามแนวรอยต่อผนัง กรณีนี้ลักษณะจะเช่นเดียวกับข้อ 6 ซึ่งแก้ไขได้ในแบบเดียวกัน

ภาพ : รอยต่อบริเวณที่หลังคาชนผนังจะปิดด้วยปีกนกป้องกันน้ำรั่วซึมบริเวณรอยต่อ

6. รั่วบริเวณปูนปั้นครอบหลังคา

เกิดจากปูนทรายใต้ครอบหลังคา แตกร้าว น้ำจึงไหลเข้าตามร่องรอยแตกได้ ซึ่งค่อนข้างสังเกตได้ยาก เพราะต้องปีนขึ้นไปตรวจเช็คกันบนหลังคา หรือรอให้น้ำรั่วก่อนเท่านั้น ให้แก้ไขโดยการสกัดปูนการเดิมออก จากนั้นใช้แผ่นปิดรอยต่อมาปิดเสริม 1 ชั้น แล้วจึงปั้นปูนทราย ใส่ครอบเข้าที่เดิม

7. รั่วเพราะโครงหลังคาแอ่น

เกิดจากโครงหลังคาผุพัง หรือไม่สามารถรับน้ำหนักกระเบื้องหลังคาได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายกรณี ในกรณีนี้สังเกตเองได้ง่ายมากๆ คือหลังคาจะเกิดการผิดรูป เสียทรง อย่างเห็นได้ชัด เป็นเหตุให้กระเบื้องหลังคาที่เคยเรียงตัวกันอยู่ในฟอร์มปกติ เกิดการเสียรูปแบบไป ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างรอยต่อ ในกรณีที่รุนแรงอาจทำให้กระเบื้องเกิดการโก่งและแตกได้ ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาด้านโครงสร้าง จึงควรปรึกษาวิศวกรจะได้รับคำแนะนำ และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดที่สุด

8. รั่วจากหลังคาดาดฟ้า

กรณีนี้เกิดจากหลังคาบ้านเป็นลักษณะดาดฟ้า หรือจะพบได้ตามอาคารพานิชย์ ตึกแถวทั่วไป ซึ่งจะเกิดจากการเสื่อมสภาพของกันซึม หรือคอนกรีตเกิดรอยร้าว สามารถแก้ไขได้โดยการทากันซึมชนิดทาดาดฟ้าใหม่ และถ้าหากบริเวณใดพบรอยร้าวขนาดใหญ่ก็ให้ทำการซ่อมแซมเสียก่อนที่จะทากันซึมด้วย

ภาพ : ทากันซึมหลังคาดานฟ้า

จากข้อมูลข้างต้น คงจะเป็นประโยชน์กับคุณเจ้าของบ้านพอสมควร ที่จะสามารถประเมินได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นความรุนแรงอยู่ในระดับใด ปัญหาใดสามารถแก้ไขเองได้ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้พอสมควร

แต่ปัญหาไหนหากประเมินดูแล้วว่ารุนแรง ก็อย่าฝืนไปแก้ไขเอง ซึ่งอาจจะแก้ไขได้ไม่ตรงจุด ปัญหาจะลุกลามบานปลายไป หรือบางทีอาจจะเกิดอันตรายกับตัวท่านเองและบุคคลในครอบครัวได้

และที่สำคัญควรหมั่นตรวจเช็คสภาพหลังคาและจุดเสี่ยงต่างๆ ข้างต้นเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนเข้าฤดูฝน จะได้เป็นการป้องกันปัญหาน่าปวดหัวไม่ให้เกิดขึ้นกับบ้านอันเป็นที่รักของคุณด้วย

ให้มืออาชีพช่วยคุณ

ติดต่อรับคำปรึกษาหรือ ติดตามข้อมูลที่มีประโยชน์จาก FIRM


Leave a Reply